Untitled Document

การเสียภาษีจากการทำธุรกิจแอมเวย์

 
 
นักธุรกิจแอมเวย์ควรดำรงตนเป็นพลเมืองดีด้วยการชำระภาษีเงินได้แต่ละประเภทให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา รายละเอียดการเสียภาษีดังต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษีของนักธุรกิจแอมเวย์ที่ดำเนินธุรกิจแอมเวย์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการเสียภาษีจากการทำธุรกิจแอมเวย์เพิ่มเติมได้จากเอกสารเผยแพร่ด้านภาษีอากรของบริษัท หรือสอบถามมายังฝ่ายการเงิน โทร. 0-2840-8000 ต่อ 8329 - 8332 หรือ Amway Call Center 0-2725-8000
 
  1. เงินได้ที่ต้องเสียภาษีจากการทำธุรกิจแอมเวย์มีอะไรบ้าง
    เงินได้จากการทำธุรกิจแอมเวย์ที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีมี 2 ประเภท คือ
    1.1 เงินได้ตาม ม.40 (2) ถือเป็นค่านายหน้าหรือประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินได้ดังต่อไปนี้
     
ส่วนลดจากยอดซื้อส่วนตัว ส่วนลดแตกต่าง
ส่วนลดพิเศษอื่นๆ รายเดือน ได้แก่ ส่วนลดพิเศษทับทิม ส่วนลดพิเศษผู้นำ ส่วนลดพิเศษไข่มุก
และรางวัลส่งเสริมการเจริญเติบโตรายเดือน (ถ้ามี)
ส่วนลดพิเศษอื่นๆ รายปี ได้แก่ ส่วนลดพิเศษมรกต ส่วนลดพิเศษเพชร ส่วนลดพิเศษเพชรบริหาร
ส่วนลดพิเศษสองผู้สถาปนา รางวัลเงินสดจ่ายครั้งแรก รางวัลส่งเสริมการเจริญเติบโตรายปี (ถ้ามี)
เงินตอบแทนอื่นๆ เช่น เงินตอบแทนจากการเป็นผู้ปราศรัยรับเชิญ
ประโยชน์อื่นๆ ที่คำนวณได้เป็นเงิน เช่น ค่าสัมมนาท่องเที่ยว
    1.2 เงินได้ตาม ม.40 (8) ถือเป็นเงินได้จากการทำธุรกิจซื้อขายสินค้า ได้แก่ เงินได้ดังต่อไปนี้
     
เงินได้จากการขายปลีกให้ลูกค้า
เงินได้จากการขายให้ดาวน์ไลน์


  2. เงินได้ทั้งสองประเภทเสียภาษีแตกต่างกันอย่างไร
    เงินได้ทั้งสองประเภทเสียภาษีแตกต่างกันดังนี้
    2.1 เงินได้ตาม ม.40 (2)
     
เมื่อนักธุรกิจแอมเวย์มีเงินได้ตามที่กล่าวในข้อ 1.1 สะสมตั้งแต่ต้นปีถึงเกณฑ์ที่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
บริษัทจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในแต่ละครั้งที่ได้จ่ายเงินได้
ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป นักธุรกิจแอมเวย์จะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
จากบริษัทโดยบริษัทจะสรุปยอดเงินได้ทั้งปีและยอดภาษีทั้งปีที่ได้หักไว้ (ถ้ามี)
นักธุรกิจแอมเวย์ไม่ต้องยื่นเสียภาษีกลางปี
นักธุรกิจแอมเวย์ต้องยื่นเสียภาษีสิ้นปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปตามแบบ ภ.ง.ด. 90
โดยแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากบริษัทเป็นหลักฐานประกอบ
    2.2 เงินได้ตาม ม.40 (8)
     
นักธุรกิจแอมเวย์จะต้องเป็นผู้รวบรวมตัวเลขเงินได้จากการขายปลีกให้สมาชิกหรือลูกค้าหรือ
ขายให้ดาวน์ไลน์ด้วยตนเอง นักธุรกิจแอมเวย์มีหน้าที่ที่จะต้องออกใบเสร็จรับเงินจากการขายปลีก
ตามกฎหมายขายตรง
นักธุรกิจแอมเวย์ต้องยื่นเสียภาษีกลางปีภายในเดือนกันยายนของปีตามแบบ ภ.ง.ด. 94 หากมีเงินได้
ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนเกิน 60,000* บาท สำหรับผู้มีสถานภาพโสด และ 120,000* บาท
สำหรับผู้ที่สมรสแล้ว
นักธุรกิจแอมเวย์ต้องยื่นเสียภาษีสิ้นปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปตามแบบ ภ.ง.ด. 90
แบบฟอร์มเดียวกับที่ใช้ยื่นเงินได้ตาม ม.40 (2) โดยนำเงินได้ที่เก็บรวบรวมไว้ทั้งปี
ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมมากรอก
  * ทั้งนี้ อัตราที่ระบุนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงจากที่ระบุ หากมีการปรับลดหรือเพิ่มจากรัฐบาล


  3. นักธุรกิจแอมเวย์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อใด
    นักธุรกิจแอมเวย์จะเริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้
     
เงินได้ตาม ม.40 (2)
เมื่อมีเงินได้ตาม ม.40 (2) สะสมตั้งแต่ต้นปีถึง 310,000* บาท กรณีโสด และ 370,000* บาท กรณีมีคู่สมรส
  * ทั้งนี้ อัตราที่ระบุนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงจากที่ระบุ หากมีการปรับลดหรือเพิ่มจากรัฐบาล


  4. เงินได้ทั้ง 2 ประเภทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าใด
    ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักได้ในการคำนวณภาษีมีดังนี้
     
เงินได้ตาม ม.40 (2) - หักค่าใช้จ่ายได้ 50%* ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000* บาท
เงินได้ตาม ม.40 (8) - กรณีเงินได้จากการขายสินค้า หักค่าใช้จ่ายเหมา 60%*
ของเงินได้หรือหักตามจริงแล้วแต่จะเลือก
  * ทั้งนี้ อัตราที่ระบุนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงจากที่ระบุ หากมีการปรับลดหรือเพิ่มจากรัฐบาล


  5. นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามข้อ 4 แล้ว นักธุรกิจแอมเวย์ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายอะไรได้อีกบ้าง
    นักธุรกิจแอมเวย์ยังสามารถหักค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้ได้เพิ่มเติม หากมีค่าลดหย่อนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
     
ค่าลดหย่อนส่วนตัว
ค่าลดหย่อนคู่สมรส
ค่าลดหย่อนบุตร
ค่าลดหย่อนบิดามารดา
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต
ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน คอนโดมิเนียม
เงินสมทบประกันสังคม
เงินบริจาค
ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
ค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติม ตามข้อกำหนดของกฎหมาย นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น
   
ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน บริษัทจะหักค่าลดหย่อนเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ และ
คู่สมรส (ถ้ามี) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากนักธุรกิจแอมเวย์ที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
(ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) ท่านใดที่เริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และประสงค์จะให้บริษัทหักค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถแจ้ง
รายการหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ในแบบฟอร์ม “แบบแจ้งรายการเพื่อการหักค่าลดหย่อนภาษีประจำปี...”
(ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) หักได้เฉพาะค่าลดหย่อนห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) 2 คน และ
เงินบริจาคเท่านั้น) มายังบริษัทไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของแต่ละปี (นักธุรกิจแอมเวย์จะต้องกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วน
และส่งกลับบริษัททุกปี เนื่องจากค่าลดหย่อนแต่ละท่านอาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งบริษัทจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อคำนวณ
ภาษีเพียงปีต่อปีเท่านั้น)


  6. สรุปวิธีการคำนวณภาษีตอนสิ้นปี
   
วิธีการคำนวณเพื่อเสียภาษีอย่างย่อ    
เงินได้ตาม ม.40 (2) (ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากแอมเวย์)  
หัก ค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินได้ตาม ม.40 (8) เงินได้จากการขายสินค้า  
หัก ค่าใช้จ่ายเหมา 80% หรือตามจริง
รวมเงินได้ก่อนหักค่าลดหย่อน  
หัก ค่าลดหย่อน  
เงินได้สุทธิ  
ภาษี (เงินได้สุทธิคูณอัตราภาษี)  
หัก ภาษีที่ถูกหักไว้ตาม ม.40 (2)
(ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากแอมเวย์)
 
หัก ภาษีกลางปีที่ยื่นเสียตามแบบ ภ.ง.ด. 94 (ถ้ามี)  
ภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือขอคืนภาษี  


  7. ทำไมค่าสัมมนาท่องเที่ยวจึงต้องถือเป็นเงินได้ของนักธุรกิจแอมเวย์
และถูกบริษัทหักภาษี ณ ที่จ่าย
     
ค่าสัมมนาท่องเที่ยวถือเป็นเงินได้ตาม ม.40 (2) ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545
ดังนั้นทุกบริษัทที่มีการสัมมนาท่องเที่ยวจะต้องถือเป็นเงินได้ของผู้ได้รับการสัมมนาท่องเที่ยวทั้งสิ้น
ไม่เฉพาะแต่นักธุรกิจแอมเวย์เท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทที่จัดให้มีการสัมมนาท่องเที่ยวจะต้องทำการหักภาษี
ณ ที่จ่ายในเดือนที่มีการสัมมนาท่องเที่ยวและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากรตามข้อกำหนดของกฎหมาย
การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย จากค่าสัมมนาท่องเที่ยวของนักธุรกิจแอมเวย์ที่ดำเนินธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา
หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) จะมีวิธีการคำนวณภาษีแบบเงินได้สะสมตั้งแต่ต้นปี
เช่นเดียวกับการคำนวณเงินได้ตาม ม.40 (2) ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2.1 ในกรณีที่นักธุรกิจแอมเวย์
ดำเนินธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%* โดยนิติบุคคลนั้นจะต้องนำค่าสัมมนา
ท่องเที่ยวมาถือเป็นเงินได้ของนิติบุคคลในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ม.65
แห่งประมวลรัษฎากรด้วย
  * ทั้งนี้ ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงจากที่ระบุ หากมีการปรับลดหรือเพิ่มจากรัฐบาล


  8. จะทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องแบกรับภาระภาษีจากการขายสินค้าให้สมาชิก
หรือดาวน์ไลน์หากสมาชิกหรือดาวน์ไลน์ฝากซื้อสินค้า
    การขายสินค้าให้สมาชิกหรือดาวน์ไลน์ แม้จะขายในราคาที่ซื้อมา (เท่าทุน) แต่ในแง่กฎหมายแล้ว
ถือว่าเป็นการขาย ดังนั้น จึงควรให้สมาชิกหรือดาวน์ไลน์ซื้อสินค้าในนามของสมาชิกหรือดาวน์ไลน์ให้ถูกต้อง
เพราะนักธุรกิจแอมเวย์และสมาชิกทุกท่านสามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทได้โดยตรงอยู่แล้ว
กรณีจำเป็นหรือเพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกหรือดาวน์ไลน์ เมื่อได้รับการฝากซื้อสินค้าจากสมาชิก
หรือดาวน์ไลน์ก็ควรสั่งซื้อในชื่อของสมาชิกหรือดาวน์ไลน์ท่านนั้นให้ถูกต้อง


  9. หากนักธุรกิจแอมเวย์ทำงานมีเงินเดือนประจำ เมื่อมาทำธุรกิจแอมเวย์
เป็นงานพิเศษจะต้องยื่นแบบฟอร์มการเสียภาษีแบบใด
    นักธุรกิจแอมเวย์ที่มีเงินเดือนประจำและทำธุรกิจแอมเวย์ด้วยอาจจะมีเงินได้ ม.40 (2) และ ม.40 (8)
ตามที่กล่าวในข้อ 1 เพิ่มเติม จากเงินเดือนประจำ (เงินได้ ม.40 (1)) ดังนั้น จะต้องยื่นแบบฟอร์มการเสียภาษีดังนี้
     
  ภาษีกลางปี - หากมีเงินได้ตาม ม.40 (8) ถึงเกณฑ์ตามที่กล่าวในข้อ 2.2 ในแบบ ภ.ง.ด. 94
ภาษีสิ้นปี - ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 แทน ภ.ง.ด. 91 ที่เคยยื่น ทั้งนี้เนื่องจากแบบ ภ.ง.ด. 91 เป็นแบบที่ใช้ยื่น
กรณีมีเงินเดือนประจำอย่างเดียว หากมีเงินได้หลายประเภทต้องใช้แบบ ภ.ง.ด. 90 แทน


  10. ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) จัดตั้งอย่างไร และต้องยื่นเสียภาษีอย่างไร
    กรณีบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและความเป็นสามีภรรยา
มีอยู่ตลอดปีภาษี ถือเป็น 1 คน) ดำเนินธุรกิจใดๆ ร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการค้าและแบ่งปันผลกำไร
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
ซึ่งมีรายละเอียดและขั้นตอน ดังนี้
    ขั้นตอนที่ 1 ขอใบทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
     
  โดยจะต้องจัดเตรียมเอกสารสำเนาข้อตกลงสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) สำเนาหนังสือ
ให้ความยินยอมใช้สถานที่ (ถ้ามี) สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร่วมจัดตั้งทุกคน พร้อมทั้งเซ็น
รับรองสำเนา หากระบุว่าผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจลงนามอย่างชัดเจน ผู้มีอำนาจผู้นั้นสามารถดำเนินการขอจดทะเบียน
ด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียว และทางกระทรวงพาณิชย์จะออกเอกสาร คือใบทะเบียนพาณิชย์ให้ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
    ขั้นตอนที่ 2 ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
     
  โดยจะต้องจัดเตรียมเอกสารข้อตกลงสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) หนังสือให้ความยินยอม
ใช้สถานที่ (กรณีที่ที่อยู่ของสถานประกอบการไม่ใช่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้ร่วมจัดตั้ง สำเนาบัตรประชาชน
และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร่วมจัดตั้งทุกคน พร้อมทั้งเซ็นรับรองสำเนา หากระบุว่าผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจลงนาม
อย่างชัดเจน ผู้มีอำนาจผู้นั้นสามารถดำเนินการขอเลขด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียว และทางสรรพากรจะคืนเอกสาร
ฉบับจริง และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีให้ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
    เอกสารที่ท่านต้องนำส่งบริษัท มีดังต่อไปนี้
     
  • เปิดบัญชีธนาคารในชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคค)
  • แจ้งเปลี่ยนชื่อธุรกิจและนำส่งเอกสารมายังบริษัท ดังต่อไปนี้
        - สำเนาหนังสือการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
      - สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
      - สำเนาสมุดบัญชีธนาคารของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล)
    การยื่นเสียภาษี
     
  ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) จะต้องยื่นเสียภาษีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558* โดยเงินส่วนแบ่ง
กำไร หรือส่วนแบ่งเงินได้ ที่หุ้นส่วนได้รับ จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ของหุ้นส่วนอีกครั้ง และจะต้องจัดทำ
รายงานบัญชีรับ-จ่ายของห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล เพื่อประกอบการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี
  * ข้อบังคับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามแต่นโยบายของกรมสรรพากร


  11. หากต้องการดำเนินธุรกิจแอมเวย์ในรูปแบบนิติบุคคล จะต้องทำอย่างไร
    ท่านจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    11.1 การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
     
  11.1.1 จองชื่อบริษัท
  ดำเนินการขอตรวจและจองชื่อตามแบบจองชื่อนิติบุคคลต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อผ่าน
การพิจารณา นายทะเบียนจะอนุมัติให้ใช้ชื่อที่ขอจองได้ (ใช้เวลาประมาณ 3 วันทำการ)
  11.1.2 จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
  เมื่อได้รับอนุมัติชื่อที่จองแล้ว ให้จัดเตรียมคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งมีรายละเอียดชื่อผู้เริ่มก่อการ
ไม่น้อยกว่า 3 คน มีอายุไม่น้อยกว่า 12 ปีบริบูรณ์ พร้อมแนบแบบรายละเอียดวัตถุประสงค์ต่อกรมทะเบียนการค้า
ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดอัตรา 50 บาท ต่อทุนจดทะเบียน 100,000 บาท
โดยค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ในกรณีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,000,000 บาท ให้คิดค่าธรรมเนียม
500 บาท เอกสารที่ใช้มีดังนี้
      - คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (บอจ. 1)
      - หนังสือบริคณห์สนธิ (บอจ. 2)
      - รายละเอียดวัตถุประสงค์ (แบบ .ว)
      - สำเนาบัตรประชาชนผู้เริ่มก่อการ
      - สำเนาบัตรทนาย
  11.1.3 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
  เมื่อดำเนินการขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มก่อการทำหนังสือนัดประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมดำเนินการ
จัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน นับจากวันที่ในหนังสือนัดประชุม จัดทำรายงานการประชุมและเรียกให้ผู้เริ่มก่อการ
ชำระเงินค่าหุ้น แล้วดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อกรมทะเบียนการค้า โดยมีเอกสารดังต่อไปนี้
      - คำขอจดทะเบียนบริษัท (บอจ.1)
      - แบบสาระสำคัญในทะเบียน (บอจ.1/1)
      - รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (อบจ.3)
      - แบบกรรมการเข้าใหม่ (แบบ ก.)
      - สำเนาหนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุม
      - บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
      - แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช.1)
      - หนังสือมอบอำนาจ
      - สำเนาข้อบังคับ 2 ชุด พร้อมต้นฉบับ
      - สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ 2 ชุด
      - สำเนาบัตรประชาชนกรรมการ
      - สำเนาบัตรทนาย
ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท ต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
    11.2 การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด
     
  11.2.1 จองชื่อห้างหุ้นส่วน
  ดำเนินการจองชื่อเช่นเดียวกับการจองชื่อบริษัท
  11.2.2 จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
  ผู้เป็นหุ้นส่วน (อย่างน้อย 2 คน ตามกฎหมาย) ดำเนินการขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีเอกสารดังต่อไปนี้
      - คำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน (หส.1)
      - รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (หส.2)
      - รายละเอียดวัตถุประสงค์ (แบบ ว.)
      - หนังสือมอบอำนาจ
      - สำเนาบัตรประชาชนหุ้นส่วนผู้จัดการ
      - สำเนาบัตรทนาย
      - ใบจองชื่อนิติบุคคล
      - แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วน (สสช.1)
ค่าธรรมเนียมสำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนไม่เกิน 3 คน คิดค่าธรรมเนียม 1,000 บาท หากเกิน 3 คน ค่าธรรมเนียมของหุ้นส่วนที่เกินคิดคนละ 200 บาท
    เอกสารที่ท่านต้องนำส่งบริษัท มีดังต่อไปนี้
     
  • เปิดบัญชีธนาคารในชื่อนิติบุคคล เฉพาะบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันเท่านั้น
  • แจ้งเปลี่ยนชื่อธุรกิจและนำส่งเอกสารมายังบริษัท ดังต่อไปนี้
        - สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
      - สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ
      - สำเนาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท
      - สำเนาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ.01 หรือ ภพ.20 (ถ้ามี)
    การยื่นเสียภาษี
     
  นิติบุคคลจะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามม.65 แห่งประมวลรัษฎากร


  12. นักธุรกิจแอมเวย์จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อใด
     
นักธุรกิจแอมเวย์ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) หรือนิติบุคคล
หากมีเงินได้ทุกประเภทตามข้อ 1 (ยกเว้นเงินเดือนประจำ) เกิน 1,8000,000* บาทต่อปี
ท่านจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%* โดยใช้คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ณ
สรรพากรเขตพื้นที่ที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
(กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) หรือนิติบุคคล) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้ถึง
1,8000,000* บาท
กรณีที่ท่านจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ให้ท่านส่งแบบ ภ.พ.01 หรือ ภ.พ.20 (ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
มายังบริษัทแอมเวย์เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%* ของเงินได้ตาม ม.40 (2) และท่านมีหน้าที่ต้องออก
ใบกำกับภาษีของท่านให้แอมเวย์ รวมถึงหากท่านมีการขายสินค้า ท่านก็ต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า
หรือดาวน์ไลน์ด้วยเช่นกัน
ท่านมีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ พร้อมยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และจัดทำรายละเอียดสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นปี
(กรณีบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ (ที่ไม่ใช่นิติบุคคล) หรือจัดทำรายงานสินค้า (กรณีนิติบุคคล)
กรณีที่ท่านมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ 1,8000,000* บาทต่อปี แต่มีความประสงค์จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ก็สามารถขอเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน
  * ทั้งนี้ ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงจากที่ระบุ หากมีการปรับลดหรือเพิ่มจากรัฐบาล
Top